ริดสีดวงทวารหนัก รู้ไว้ป้องกันได้



อาการปวดเจ็บแสบที่ปลายทวารหนัก จะลุกจะนั่งเมื่อไหร่ก็ร้องโอย  ทำให้คำว่า ก็ลมมันเย็นเป็นประโยคยอดฮิตติดหูหลายปีที่ผ่านมาที่ผู้คนใช้สื่อถึงผู้ที่เป็นโรคนี้ได้อย่างชัดเจน  ริดสีดวงทวารหนักเหมือนว่าจะเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงนัก แต่ก็สร้างความทรมานในการใช้ชีวิตปกติไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะอาการเจ็บแสบคัน มีติ่งเนื้อ หรือมีเลือดออกหลังการขับถ่ายซึ่งเป็นกิจวัตรที่เราต้องทำเป็นประจำในทุกๆวัน

อาการริดสีดวงทวารมีหลายระดับ ขึ้นอยู่กับชนิด ตำแหน่ง และระยะของโรค
ระยะที่ 1 ผู้ป่วยจะมีเลือดออกเล็กน้อย ส่วนใหญ่ไม่ต้องรักษาเพียงนั่งแช่น้ำอุ่น ยาเหน็บ ยาทา รับประทานอาหารที่มีกากใย มากๆ เช่นทานกล้วย ตอนเย็นก่อนอาหารวันละ 2 ลูก ก็จะช่วยบรรเทารักษาอาการระดับนี้ได้

ระยะที่ 2 เวลาถ่ายจะมีเนื้อนิ่มๆ ยื่นออกมาซึ่งสามารถหดกลับเข้าไปได้ด้วยการขมิบ เลือดออกคล้ายระยะที่ 1 พบว่าจะมีอาการคันและมีมูกแฉะบริเวณทวารหนักด้วย วิธีการรักษาโดยการฉีดยาให้เนื้อเยื่อหดตัว หรือการรัดยางให้เนื้อเยื่อขาดเลือดและหลุดออกไปเอง ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์

ระยะที่ 3 เมื่อเบ่งถ่ายแล้วมีติ่งเนื้อยื่นออกมา ต้องใช้มือดันกลับเข้าไประยะนี้การขมิบจะไม่ทำให้ติ่งเนื้อกลับเข้าไปได้ ระยะที่ 4 ติ่งเนื้อจะยื่นออกมาภายนอกได้ง่าย ไม่ว่าจากการนั่งยองๆ ไอ จาม หรือยกของหนัก ติ่งเนื้อนี้จะดันกลับเข้าไปข้างในได้ยากหรืออาจดันกลับไม่ได้เลย และบางรายอาจเป็นได้ 2-3 หัว

ระยะที่ 3 และ 4 จะใช้การผ่าตัดรักษา ซึ่งมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบตัดต่อลำไส้เข้าไปข้างใน การตัดด้วยเลเซอร์ หรือเครื่องมือตัดอัตโนมัติและเย็บทันที ซึ่งวิธีการผ่าตัดขึ้นกับอาการ ขนาด ความรุนแรงและความชำนาญของศัลยแพทย์ 


แม้ว่าโรคริดสีดวงจะพบในกลุ่มคนที่มีอายุเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากมีผิวหนังที่หย่อนยาน กลุ่มอายุน้อยเองก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดลุกลามจนไปถึงขั้นต้องผ่าตัด โดยจะต้องลดภาวะความเสี่ยงต่างๆ เช่นพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อยทำให้เกิดภาวะท้องผูกเรื้อรัง ชอบเบ่งในเวลาขับถ่าย   ชอบนั่งอ่านหนังสือ หรือ เล่นโทรศัพท์ ทำให้ใช้เวลาในการถ่ายนาน ภาวะท้องผูกหรือริดสีดวงก็อาจพบได้กับผู้ที่ตั้งครรภ์เนื่องจากถ่ายอุจาระไม่สะดวก 

การป้องกันไม่ให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร หรือ การดูแลตนเองหลังการรักษาไม่ให้เป็นอีก ทำได้โดย
·         เลือกรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงจำพนวก ผัก ผลไม้ ธัญพืช กล้วย ข้าวโพด
·         ดื่มน้ำมากๆ วันละ 8-10 แก้ว
·         ลดอาหารมัน หรือลด ชา กาแฟ ในช่วงเวลาที่ท้องผูก
·         เลี่ยงการใช้ยาระบายมากเกินไป จนทำให้เกิดอาการท้องผูก
·         เลี่ยงการเบ่งอุจจาระรุนแรง การกลั้นอุจาระ หรือนั่งขับถ่ายเป็นเวลานานๆ
·         ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ขอให้ทุกท่านโชคดี อโรคยา ปรมาลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น