สารพัดโรคผิวหนังติดเชื้อที่ควรรู้


ปัญหาผิวหนังเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พบได้ทั่วไปกับมนุษย์อย่างเราๆ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวสลับร้อนและฝน ทำให้เกิดโรคไวรัสแพร่ระบาดได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นโรคอีสุกอีใส สามารถติดได้ทางเดินหายใจ หรือการใช้ผ้าเช็ดหน้าร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีโรคผิวหนังอีกหลายๆ โรคไม่ว่าจะเป็นโรคเริม โรคหัด โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ซึ่งหากแบ่งตามการติดเชื้อนั้นสามารถแบ่งได้ดังนี้

1.       โรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
ซึ่งพบได้มากคือแผลพุพอง มีการติดเชื้อชั้นหนังกำพร้า เพราะดูแลแผลทำความสะอาดไม่ดี ส่วนใหญ่เกิดกับเด็กเล็กเด็กน้อย ที่มีนิสัยชอบแกะ เกา ตามแขนขา หรือมีผื่นแดง กลายเป็นตุ่มน้ำใส พอแห้งตกสะเก็ดจะยิ่งคัน ถ้าเกามากๆ จะทำให้เกิดแผลอักเสบได้ ยิ่งถ้าเกิดบนศีรษะที่ชาวบ้านเรียกกันว่าชันนะตุ หากปล่อยไว้นานจะลุลามติดเชื้อ จะเข้าสู่กระแสเลือดได้ จึงต้องหมั่นดูแลรักษาทำความสะอาดแผลให้ดีๆ ด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อ Mupiroxin ไม่เกิน 10 วันก็จะหายเป็นปกติ

แต่ถ้าเป็นรูขุมขนอักเสบ เกิดผื่นแดง ตามหนวด รักแร้ เครา ส่วนใหญ่จะหายเอง ถ้าไม่เกิดการอักเสบ ฝี หรือตุ่มแดงมีหนองซะก่อน เพราะถ้าเป็นหนองแล้วต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ  Clindamycin ทาตรงแผลเพื่อให้แผลแห้งสนิทจนหายดี

ส่วนแผลบนผิวหนังแบบไฟลามทุ่ง ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในน้ำเหลือง แตกจากตุ่มแดงกระจายลามอย่างรวดเร็ว ต้องรักษาด้วยDicloxacillin ประมาณ 5-7 วัน ร่วมกับการประคบร้อน

และผิวหนังอักเสบ ที่เป็นผืนแดงกดแล้วเจ็บ พบมากกับผู้ป่วยเบาหวาน เป็นโรคอ้วน หรือติดสุราต้องใช้ยา Dicloxacillin ประมาณ 5-7 วัน ร่วมกับการประคบร้อนจนอาการหายดี ซึ่งควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด

2.       โรคผิวหนังเกิดจากเชื้อรา
ส่วนใหญ่เจ้าเชื้อรานี้จะชอบสิงสถิตกับที่ชื้นๆ อับ เช่นโรคกลาก บนลำตัว แขน ขา รักแร้ ขาหนีบ มันจะขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ มีขุยสีขาว และคัน ส่วนกลากที่ขึ้นตามง่ามเท้า หรือฮ่องกงฟุตน้ำกัดเท้านั้น แผ่นจะขาวยุ่ย หากลอกออกมาจะมีกลิ่นเหม็นมากส่วนใหญ่จะใช้การรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ ทาบริเวณที่เป็นจนอาการหายและดีขึ้น
แต่หากเป็นเกลื้อนเชื้อราที่อาศัยในรูขุมขน จะได้ไขมันจากรูขุมขนเป็นอาหาร เมื่อร่างกายอ่อนแอภูมิต้านทานลดลงจะทำให้เกิดโรค มีลักษณะเป็นด่างขาว มีขุย พบมากบริเวณหน้า คอ อกและหลัง

3.โรคผิวหนังจากเชื้อไวรัส
ทำให้เกิดเชื้อในทุกระบบ รวมถึงติดเชื้อที่ผิวหนัง ปกติเมื่อร่างกายคนเรารับเชื้อไวรัสเข้าไปจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสอยู่แล้ว มีการปกป้องตนเองไม่ให้เป็นโรค แต่ตัวเชื้อจะหลบซ่อนอาศัยอยู่ในร่างกาย จนวันดีคืนดีภูมิต้านทานต่ำเชื้อไวรัสจะกำเริบขึ้นมา เช่นทำให้เกิดโรคเริม ถ้าอดนอนหรือทำงานหนัก มักเกิดบริเวณริมฝีปากหรือผิวหนังเหนือสะดือ แผลเริมจะเป็นตุ่มน้ำพองใสเล็ก ขึ้นเป็นกลุ่มเป็นแผลตื่นๆอยู่บนฐานสีแดงทำให้เจ็บและแสบมาก ปกติจะหายไปเองใน 10 วัน

ส่วนงูสวัดเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับอีสุกอีใส แผลจะเป็นตุ่มใสบนฐานแดง ขึ้นชิดกัน เป็นหนองแห้งและตกสะเก็ดใน 10 วัน ส่วนที่ต่างจากอีสุกอีใสคือผื่นจะขึ้นตามแนวเส้นประสาท มีไข้ และอ่อนเพลียร่วมด้วย รักษาด้วยการรับประทานยา Acyclovir ตามแพทย์สั่ง

รวมถึงหูดก้อนที่ผิวหนังมีทั้งเรียบแบบขรุขระ สีขาวชมพูหรือน้ำตาล พบบ่อยตามแขน ขา รักษาด้วยการจี้ด้วยกรดซาลิไซลิก หรือจี้ด้วยไฟฟ้าหรือผ่าตัดออก

ทั้งหมดนี้คือโรคผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นกับมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะชนิดใดก็ตามล้วนเกิดอันตรายกับมนุษย์ไม่มากก็น้อย สิ่งที่เราควรทำคือหมั่นดูแลสุขภาพผิวหนังให้สะอาด หากมีแผลเป็นที่ผิวหนังมาก และลุกลามไปเรื่อยไม่ควรปล่อยไว้นานหรือรักษาด้วยตัวเอง ควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ทันทีนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น